แห่ขบวนขันหมากและรับขบวนขันหมากอย่างไรให้ถูกวิธี
งานแต่งงานแบบไทยของเราถือเป็นพิธีการที่งดงามและละเอียดมากๆ และเต็มไปด้วยความหมายต่างๆทุกขั้นตอน ทุกพิธีการมีเสน่ห์และแฝงไปด้วยความหมายในตัวเอง
ในอดีตนั้นพิธีหมั้นกับพิธีแต่งงานจะถูกจัดขึ้นคนละวัน โดยจะมีการหมั้นหมายกันไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อยเข้าพิธีแต่งงานในภายหลังแต่จะเป็นการมอบขันหมากหมั้น และของหมั้นให้กับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง หรือสวมแหวนหมั้นเท่านั้น สำหรับสมัยนี้ส่วนใหญ่จะทำพิธีหมั้นวันเดียวกับพิธีแต่งงาน จึงรวมเอาทั้งขันหมากหมั้น และขันหมากแต่งไว้ด้วยกัน
การแห่ขันหมาก?
พิธีการแห่ขันหมากเป็นขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ อีกทั้งยังถือเป็นการแสดงความเคารพต่อพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาว และสื่อให้เห็นว่าฝ่ายชายยกย่องและให้เกียรติสู่ขอฝ่ายหญิงอย่างครบถ้วนตามประเพณี ส่วนฝ่ายหญิงก็ยินดีต้อนรับฝ่ายชายเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัว ในขบวนขันหมากที่แห่มานั้น ฝ่ายชายจะเป็นผู้เตรียมสิ่งของมายังบ้านฝ่ายหญิงในวันแต่งงาน โดยจะจัดขบวนขันหมากในลักษณะดังนี้
- เถ้าแก่และเด็กนำขันหมาก (เด็กผู้ชาย) โดยในตอนเริ่มขบวนเถ้าแก่จะอยู่เรียงต่อจากเจ้าบ่าว แต่เมื่อเดินทางมาใกล้ถือหน้าบ้านเจ้าสาว เถ้าแก่ก็จะเป็นฝ่ายออกมารับหน้า ซึ่งถือว่าเป็นแทนเจ้าบ่าว
- เจ้าบ่าวถือช่อดอกไม้เล็ก ๆ หรือพานธูปเทียนแพรก็ได้ ซึ่งเมื่อเริ่มแห่ ขบวนตอนแรกเจ้าบ่าวขบวนอยู่หน้าสุดของขบวน ตามด้วยเถ้าแก่ ส่วนต้นกล้วยและต้นอ้อยที่เดินตามเจ้าบ่าวมานั้น เมื่อขบวนเคลื่อนย้ายมาถึงหน้าบ้านแล้ว ให้มาอยู่หลังสุดก่อนขบวนรำ
- คนถือซองเงิน พ่อแม่เจ้าบ่าว
- คู่ต้นกล้วย-ต้นอ้อย
- ขันหมากเอก (ญาติผู้ใหญ่ถือ)
- คู่พานขันหมากพลู
- พานขันหมากเงินสินสอด พานทองหมั้น
- พานแหวนหมั้น พานธูปเทียนแพ
- คู่พานผ้าไหว้
- ขันหมากโท (ญาติหรือเพื่อนถือ)
- คู่พานขาหมู
- คู่พานวุ้นเส้น
- คู่พานมะพร้าว
- คู่พานกล้วยหอม-ส้ม-ชมพูเพชร
- คู่พานส้มโอ
- คู่พานขนมมงคล 9 อย่าง
- คู่พานขนมเสน่ห์จันทร์หรือขนมเปี๊ยะ
- คู่พานขนมกล่อง
- ขบวนรำ
ขั้นตอนพิธีแห่ขบวนขันหมาก
1. การตั้งขบวนขันหมาก ตามรูปแบบการจัดขบวนที่ถูกต้อง โดยควรตั้งขบวนห่างจากบ้านเจ้าสาวระยะหนึ่ง และก่อนเริ่มเดินขบวนจะมีการโห่ร้องรับกัน 3 ครั้ง เพื่อให้สัญญาณว่าขันหมากพร้อมแล้วที่จะเคลื่อนขบวน จากนั้นจึงค่อยเดินขบวนมาถึงบ้านเจ้าสาว
2. เมื่อขบวนขันหมากมาถังยังบ้านเจ้าสาวหรือสถานที่จัดงาน ก็จะมีการโห่ร้องรับกันอีก 3 ครั้ง เพื่อบอกฝ่ายเจ้าสาวว่าเจ้าบ่าวเดินทางมาถึงแล้ว จากนั้นจะมีเด็กผู้หญิงของทางฝ่ายเจ้าสาวถือพานหมากที่จัดไว้เป็นคู่มาต้อนรับ และมารับพานดอกไม้ธูปเทียนจากเจ้าบ่าว แล้วจึงเริ่มบทสนทนาดังนี้
ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว : วันนี้มาทำอะไรกัน
ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าว : วันนี้เป็นวันดีเป็นสิริมงคล นำขันหมากและลูกเขยมาให้
3. ญาติเจ้าสาวจะมาคอยทำพิธีกั้นประตู โดยจะยืนเป็นคู่ ถือผ้าแพรหรือสร้อยเงินสร้อยทองเพื่อกันไม่ให้เจ้าบ่าวเข้าไปหาเจ้าสาวได้ หากจะเข้าไปต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแก่ผู้เฝ้าประตู
หลังจากเสร็จสิ้นการแห่ขันหมากของฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงทำการรับขันหมากเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่พิธีกั้นประตูเงิน ประตูทอง โดยพิธีนี้จะดำเนินการโดยญาติและเพื่อนฝั่งเจ้าสาว จากนั้นจะเข้าสู่พิธีสู่ขอ นับสินสอด พิธีหมั้นพิธีรดน้ำสังข์ พิธีรับไหว้ พิธีปูที่นอน และพิธีส่งตัวต่อไป
_______________________________________________________________________________
ติดตามบทความเกี่ยวกับงานแต่งงานดีๆ ลุ้นรับสิทธิถ่ายพรีเวดดิ้งฟรีทุกเดือน รวมทั้งโปรโมชั่นพิเศษมากมาย
ได้ที่ Line @superpibphoto หรือ จิ้มที่นี่ครับ >>> www.line-superpibphoto.com